วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2557

ประเพณีไทย

ประเพณีไทยๆ


ประวัติวันเข้าพรรษา ประเพณีเข้าพรรษา




ประวัติวันเข้าพรรษานั้นเริ่มต้นจากเมื่อสมัยพุทธกาลโดยพระพุทธเจ้าเป็นผู้กำหนดขึ้นเนื่องจากมีผู้มาเรียกเรียนว่า พระภิกษุสงฆ์เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยไม่หยุดหย่อนเลยแม้กระทั่งหน้าฝนที่ฝนตกหนัก และน้ำหลาก การเดินทางลำบาก กระทั้งบางครั้งพระสงฆ์เหล่านั้นยังเดินไปเหยียบย่ำพืชผัก หรือผลผลิตที่กำลังเติบโต และกำลังผลิดอกออกผล ได้รับความเสียหาย
ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้กำหนดให้ฤดูฝนเป็นฤดูสำหรับการหยุดพักการเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์โดยกำหนดให้ตั้งแต่วันแรม 1ค่ำเดือน 8 เป็นวันเข้าพรรษา จนถึงวันขึ้น 15ค่ำเดือน 11และ เป็นวันออกพรรษา เพื่อพระสงฆ์จะได้หยุดพักจากการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และได้ปฏิบัติและศึกษาพระธรรมเพิ่มเติม และสั่งสอนลูกศิษย์หรือพระใหม่ที่เพิ่งบวชได้ร่ำเรียนธรรมะอย่างเต็มที่ โดยให้พระสงฆ์อยู่ประจำที่ไม่ไปจำวัดที่อื่นตลอดระยะเวลา 3เดือนที่เข้าพรรษานั้นแม้แต่คืนเดียว หากพระสงฆ์ไม่สามารถกลับมาทันก่อนรุ่งสางถือว่าภิกษุนั้นขาดพรรษา แต่มีข้อยกเว้นหากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถกลับมาได้ทัน แต่ต้องกลับมาภายใน 7วัน 

ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง จังหวัดแพร่



     “ย้อนอดีตเก่าแก่  เมืองแพร่เมืองงาม  เล่าขานตำนานช่อแพร่ช่อแฮแหล่งประดิษฐานพระเกศาธาตุ  พระบรมสารีริกธาตุ  พระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า  เมื่อถึงวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ ใต้ เดือน ๖ เหนือ  พุทธศาสนิกชนหลั่งไหลไหว้พระธาตุช่อแฮ  เมืองแพร่  แห่ตุงหลวง  ถวายแด่องค์พระธาตุสืบมา”
ตำนานเก่าแก่แห่งเมืองมนต์ขลังเล่าว่า  อดีตกาล  พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงดอยโกสิยธชัคคะบรรพตและได้มอบพระเกศาธาตุให้ขุนลั๊วอ้ายก้อมไปบรรจุในผอบแก้วแล้วนำไปไว้ในถ้ำด้านตะวันออกของดอยที่ประทับ  ซึ่งผ้าแพรที่ขุนลั๊วอ้ายก้อมนำมารองรับพระเกศาธาตุนั้นเรียกว่า “ผ้าแฮ”  นิยมนำผ้าแฮ หรือผ้าแพรมาประดิษฐ์เป็นช่อ  หรือธง  แล้วทำการถวายสักการะเป็นพุทธบูชา  ต่อมาภายหลังเพี้ยนมาเป็น  “ช่อแฮ่”  หรือ  “ช่อแพร่”  โดยครั้งนั้นพระพุทธเจ้าทรงมีรับสั่งว่า  ต่อไปเมืองนี้จะชื่อเมืองแพร่  และหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว  ให้นำพระธาตุข้อศอกข้างซ้ายมาประดิษฐ์ที่นี่ด้วย  และหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ๒๑๘ ปี  พระเจ้าอโศกมหาราชและพระอรหันต์จำนวนมากได้ร่วมกันอธิษฐานอันเชิญพระบรมสารีกริกธาตุที่ได้บรรจุในผอบแก้วที่เตรียมไว้นั้นไปสถิตในสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงหมายไว้แต่เดิม  แล้วประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้พิทักษ์รักษาตลอดไป  จนกว่าจะหมดอายุแห่งพระพุทธศาสนา ๕๐๐๐ พระวัสสา
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์  ระบุว่า  ในสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท)  ครั้งทรงดำรงตำแหน่งมหาอุปราชเมืองศรีสัชชนาลัย  ได้เสด็จยกทัพแปรพระราชฐานมาทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุช่อแฮเสร็จแล้ว  ทรงให้มีงานฉลองสมโภช ๗ วัน ๗ คืน  ตั้งแต่วันขึ้น ๙-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ เดือน ๔ ใต้  และนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  เจ้าผู้ครองนครแพร่ทุกพระองค์ก็ได้ยึดถือประเพณีไหว้พระธาตุประจำปีสืบมา
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖  ในสมัยของเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์  ได้ลดการจัดงานเหลือ ๕ วัน ๕ คืน  คือวันขึ้น ๑๑-๑๕ ค่ำ เดือน๖ เหนือ เดือน ๔ ใต้ ของทุกปี  ภายในงานประกอบด้วยขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ประกอบไปด้วย  ริ้วขบวนของทุกอำเภอ  ขบวนช้างเจ้าหลวง  และเครื่องบรรณาการ  ขบวนแห่กังสดาล  ขบวนแห่หมากเป็ง  ขบวนต้นผึ้ง  ขบวนแห่ผ้าแพรคลุมองค์พระธาตุ ๑๒ สี  ซึ่งประกอบด้วยขบวน ๑๒ ราศี  ขบวนเทพีโปรยข้าวตอกดอกไม้  ต้นหมาก  ต้นผึ้ง  ด้นดอก  ขบวนตุง  ขบวนฟ้อนรำ  มีการเทศน์และฟังเทศน์มหาชาติ  มหาเวสสันดรชาดก  ทั้งกลางวันและกลางคืน  สำหรับกลางคืนมีมหรสพสมโภชตลอดงาน
ปัจจุบันประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ  เมืองแพร่แห่ตุงหลวงนอกจากจะมีขบวนแห่ที่อลังการตามแบบอย่างในอดีตแล้วภายในงานยังมีกิจกรรมอื่นอีกมากมาย เช่น  กิจกรรมการสาธิตการทำตุง  โคม  เครื่องสักการะล้านนา  การประกวดหนูน้อยช่อแฮ  รวมทั้งการออกร้านและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม  ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจและน่ามาสัมผัสความอลังการด้วยตนเองทั้งสิ้น
          -   วันเวลาการจัดงาน : วันขึ้น ๙-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ เดือน ๔ ใต้  ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี
          -   สถานที่จัดงาน : วัดพระธาตุช่อแฮ  ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปตามถนนช่อแฮ  ประมาณ ๙ กิโลเมตร  (เส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๒)


  ประเพณีไทย – “พระราชพิธีจองเปรียง  แห่งเมืองสุโขทัย  เผาเทียน  เล่นไฟ  พลุ  ตะไล  ไฟพะเนียง  โคมลอยรูปดอกกระมุท  ที่สุดของโคม  แห่นางนพมาศ  บูชาพระพุทธมหานัมมทาน  วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  ประชาราษฎร์กล่าวขาน  ลอยกระทง  เผาเทียน  เล่นไฟ  ร่วมแรงศรัทธาเผาเทียนบูชาพระรัตนตรัย  สว่างไสวพร้อมกัน”
พระราชพิธีจองเปรียงมีมาแต่โบราณ  ช่วงสมเด็จพระร่วงเจ้า  จากหลักฐานในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์  ได้กล่าวถึงนางนพมาศว่า  เมื่อครั้งสมเด็จพระร่วงเจ้า  พร้อมด้วยพระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายใน  เสด็จลงประพาสลำน้ำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  ตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน  เพื่อทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์  นางนพมาศจึงได้ประดิษฐ์กระทงถวายเป็นรูปดอกกระมุทหรือรูปดอกบัว  สมเด็จพระร่วงเจ้าพอพระทัยมาก  จึงประกาศว่า  “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า  กษัตริย์ในสยามประเทศ  ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์  วันเพ็ญเดือน ๑๒  พระราชพิธีจองเปรียง  แล้วก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท  อุทิศสักการบูชาพระพุทธมหานัมมทาน  ตราบเท่ากัลปาวสาน”
นอกจากนี้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 บรรทัดที่ 14 ได้กล่าวถึงการเผาเทียนเล่นไฟว่า  “…เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตูหลวง  เที้ยรย่อมคนเสียดกัน  เข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟเมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก…”  ซึ่งข้อความใยศิลาจารึกตอนนี้  นายนิคม  มุสิกคามะ  ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐  ได้เสนอให้จังหวัดจัดงานพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ประเพณีลอยกระทงขึ้นให้เป็นงานระดับชาติ  โดยให้ชื่องานตามคำในศิลาจารึกว่า  “งานเผาเทียน  เล่นไฟ”  เน้นการฟื้นฟูประเพณีลอยกระทง  เผาเทียน  เล่นไฟ  พลุ  ตะไล  ไฟพะเนียง  ดอกไม้ไฟชนิดต่างๆ  โดยจังหวัดสุโขทัย  ได้ร่วมกับกรมศิลปากร  และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดงานลอยกระทง  เผาเทียนเล่นไฟ  ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เรื่อยมา
ในงานลอยกระทง  เผาเทียน  เล่นไฟ  จังหวัดสุโขทัยได้จัดให้มีพิธีเผาเทียนแบบโบราณ  โดยเชิญชวนให้ประชาชนร่วมพิธีซื้อตะคัน  เผาเทียนบูชาพระรัตนตรัยและเมื่อจุดแล้วก็ให้นำไปวางบนฐานหรือระเบียงโบสถ์วิหาร  พระเจดีย์  โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  และผ่ายในงานยังมีการแสดงแสง  สี  เสียง  จำลองบรรยากาศงานเผาเทียนเล่นไฟสมัยสุโขทัย  ให้ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ชื่นชมตลอดงาน
          -   วันเวลาการจัดงาน : วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  หรือวันเพ็ญเดือน ๑๒
          -   สถานที่จัดงาน : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ จังหวัดอุทัยธานี



 “ขึ้นแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ถึงกำหนดเวียนมาบรรจบ ณ วัดสังกัตรัตนคีรี  ประเพณีตักบาตรเทโว  พระสงฆ์หลายร้อยรูปเดินลงจากยอดเขา  ผ่านบันได ๔๔๙ ขั้นสู่เบื้องล่าง  ที่ยังเนืองแน่นไปด้วยพุทธศาสนิกชนเรือนหมื่น  ที่ยังคงยึดมั่นในวิถีปฏิบัติดั้งเดิม  อันสะท้อนภาพแรงศรัทธาที่สุกสว่าง  ภายในจิตใจของทุกคน”
อุทัยธานี  ชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง  เมืองเล็กๆ ที่อบอุ่น  และมากด้วยไมตรีจิต  ที่พร้อมมอบให้แก่คนต่างถิ่น  และรอให้เข้ามาสัมผัส  วัฒนธรรม  ประเพณีไทยที่ยังคงเอกลักษณ์  และห่างไกลสิ่งเจือปนจากภายนอก  บางคนมักจะละเลยผ่านไป  แต่ลองหยุดแวะพัก  ค่อยๆ ปล่อยชีวิตให้เดินช้าลง  คุณจะหลงรักเมืองแห่งนี้ได้ไม่ยาก
ณ บริเวณศูนย์กลางของเมือง  ยอดเขาสะแกกรังยังคงเป็นสถานที่ศักสิทธิ์  ที่มีความเชื่อมาแต่โบราณกาลว่าเป็นที่ตั้งของซากโบราณสถาน  ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐  พระปลัดใจ  เจ้าอาวาสวัดทุ่งแก้ว  และชาวอุทัยธานีได้ลงแรงช่วยกันสร้างมณฑปสิริมหามายากุฎาคาร  พร้อมก่อสร้างวัดสังกัตรัตนคีรีมงคลประไพอุทัยเขตร์ขึ้น  จนกลายเป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชน  ชาวอุทัยธานีและชาวไทยเรื่อยมา
จากนั้นในช่วงวันออกพรรษาของทุกปี  ช่วงค่ำก่อนวันออกพรรษา  ภาพการแสดง  แสง  สี  เสียง  จำลองเรื่องราวพุทธประวัติครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์  เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  และเป็นวันสิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน  หรือเรียกว่า “วันมหาปวารณา”
ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ  พระสงฆ์หลายร้อยรูปพร้อมเพรียงเดินลงจากยอดเขาสะแกกรัง 449 ชั้น เป็นสายยาวท่ามกลางฉากหลังคือบันไดที่อยู่ระหว่างกลางภูเขา  ตัดกับขอบฟ้าสีคราม  ดูเสมือนหนึ่งพระสงฆ์กำลังลงมาจากยอดเขาดาวดึงส์  ผู้คนเบื้องล่างตระเตรียมข้าวสารอาหารแห้งมารอใส่บาตรพระสงฆ์  จนเป็นภาพที่จดจำ  ทั้งยังช่วยสร้างศรัทธาและสืบสานให้พระพุทธศาสนาคงอยู่สืบไป
          -   วันเวลาการจัดงาน : เทศกาลออกพรรษา  วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ของทุกปี
          -   สถานที่จัดงาน : วัดสังกัตรัตนคีรี  อำเภอเมืองอุทัยธานี

ประเพณีวิ่งควาย จังหวัดชลบุรี



  “ลานกว้าง  คือสนามประลองเจ้าแห่งความเร็วของเจ้าทุยเพื่อนรัก  สัตว์เลี้ยงคู่ใจชาวนาไทยครั้งอดีต  ที่ต่างวางคันไถ  ออกจากท้องนาขึ้นมาช่วงชิงชัยชนะในสนามการแข่งขันวิ่งควาย  ประเพณีที่สร้างความคึกคักเร้าใจ  ได้ทุกช่วงวินาทีที่ผู้บังคับประสานเป็นหนึ่งกับเจ้าทุย  ขับเคี่ยวกับคู่แข่งที่ขนาบทั้งซ้ายขวา  มุ่งหน้าเข้าสู่เส้นชัย  เพียงช่วงเวลาไม่กี่นาที”
ใกล้เข้าสู่เทศกาลออกพรรษา  ผ่านพ้นช่วงการไถหว่านของชาวนาที่มีควายไทยเป็นแรงงานหลักในการไถแปลงนาให้พร้อมสำหรับการเพาะปลูกข้าว  เมื่อทำงานหนักเสร็จสิ้นก็ได้เวลาในการพัก  แต่ระหว่างที่รอการเก็บเกี่ยวผลผลิต  ช่วงนี้เองที่ชาวนาจะได้มีโอกาสนำผลผลิตจากฤดูก่อนหน้ามาค้าขาย  แลกเปลี่ยนกันในตลาด  บางคนใช้ควายเป็นพาหนะขนของ  ยางคนก็แต่งองค์ทรงเครื่องให้ควายของตนสวยงาม  จนเมื่อเสร็จสิ้นการพบปะพูดคุย  จึงชักชวนกันนำควายของตนมาวิ่งแข่งขันกัน  จนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน
ประเพณีวิ่งควายจัดขึ้นทั่วไปตามชุมชนต่างๆ เริ่มตั้งแต่เขตเทศบาลเมืองชลบุรี  จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑  อำเภอบ้านบึง  จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  ตลาดหนองเขิน  อำเภอบ้านบึง  จัดขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดดอนกลาง  ตำบลแสนสุข  อำเภอเมือง  จัดขึ้นในวันทอดกฐินประจำปีของวัด  ซึ่งคุณสามารถเดินทางเข้ามาชมประเพณีนี้ได้ตามช่วงเวลาต่างๆ  ซึ่งแต่ละสถานที่ล้วนมากด้วยสีสัน  รวมทั้งความตื่นเต้นในการลุ้นว่าใครที่จะเป็นเจ้าแห่งความเร็วของประเพณีวิ่งควาย
ในปัจจุบัน  นอกจากชาวบ้านต่างเข้าชิงชัยในสนามแข่งขันประเพณีวิ่งควาย  และประดับประดาควายของตนด้วยผ้า  และแต่งแต้มสีสันสร้างลวดลายให้สวยงามแล้ว  ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างความสนุกสนาน  และแฝงไปด้วยสาระ  เริ่มต้นตรวจดูความแข็งแรงของควายในการประกวดสุขภาพ  สร้างขวัญและกำลังใจแก่คนและควายในพิธีสู่ขวัญควายตามแบบพิธีกรรมดั้งเดิม  อันเป็นการแสดงถึงความผูกพันระหว่างชาวนาและสัตว์เลี้ยงคู่ใจ  ถึงแม้ความสำคัญของควายไทยจะลดบทบาทลงไปมาก  แต่ชาวชลบุรีก็ยังสืบสานงานประเพณีวิ่งควายให้คงอยู่จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น  หนึ่งเดียวในประเทศไทย
          -   วันเวลาการจัดงาน : ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑  หรือก่อนออกพรรษา ๑ วัน  เรื่อยไป
          -   สถานที่จัดงาน : เทศบาลเมืองชลบุรี,  ตลาดหนองเขิน  อำเภอบ้านบึง,  วัดดอนกลาง  ตำบลแสนสุข

ประเพณีการแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม


 “แสงนวลจากจันทร์วันเพ็ญส่องสว่างค่ำคืนให้รื่นเริงไปพร้อมกับเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ประจำปี  ผู้คนจากทั่วสารทิศร่วมบูชาพระบรมสารีริกธาตุด้วยเคารพศรัทธา  เสริมสร้างสิริมงคลแก่ชีวิต  แล้วร่วมแรงร่วมใจแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์  อิ่มบุญแล้วยังได้สนุกครึกครื้นไปกับบรรยากาศงานวัด  กิจกรรม  การประกวด  และการละเล่น  จึงมากมายรอยยิ้ม  ความสุขเช่นทุกๆ ปี”
เทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์  พิธีที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมายาวนานนับร้อยปีของชาวนครปฐม  เมื่อวันเวลาผ่านมาถึงคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี  องค์พระปฐมเจดีย์มีผู้คนหลั่งไหลมากราบไหว้บูชาพระบรมสารีริกธาตุ  ดั่งได้เฝ้าอยู่เบื้องพระยุคลบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  สร้างสิริมงคลแก่ชีวิต  ท่ามกลางแสงนวลจากจันทร์เต็มดวงในคืนวันเพ็ญ  ยามต้ององค์พระปฐมเจดีย์ปูชนียสถานซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานคู่แผ่นดินสุวรรณภูมิ  นับแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  นับอายุกว่าพันปีที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า  ภายใต้พระเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำ  ปากผายมหึมา  โครงสร้างเป็นไม้ซุง  รัดด้วยโซ่เส้นมหึมา  ก่ออิฐ  ถือปูน  ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ  ประกอบด้วยวิหาร ๔ ทิศ  กำแพงแก้ว ๒ ชั้น  งดงามเคียงคู่กาลเวลา
และอีกหนึ่งประเพณีปฏิบัติเคียงคู่ไปกับการนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์นั่นคือ  แห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์  โดยเชื่อกันมาแต่โบราณว่า  ถ้าถวายสิ่งของเครื่องใช้แด่พระภิกษุสงฆ์จะได้บุญกุศล  เป็นส่วนหนึ่งของการบูชาพระรัตนตรัย  โดยเฉพาะการถวายผ้ากาสาวพัสตร์จะได้บุญกุศลมาก  ผู้คนจึงได้ร่วมแรงร่วมใจนำผ้ากาสาวพัสตร์ต่อกันเป็นผืนยาว  จัดเป็นขบวนแห่รอบองค์พระปฐมเจดีย์  ช่วยกันจับขึงไว้บนบ่าทั้งผืนด้วยแรงสามัคคี  ขบวนแห่ผ้าห่มจะเดินเวียนรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ๑ รอบ  แล้วมาพักไว้บริเวณด้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย์  ให้พุทธศาสนิกชนเขียนคำอุทิศส่วนกุศลลงบนผืนผ้า  ถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง  และวันสุดท้ายของการจัดงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์  จึงนำผ้าไปเวียนแห่รอบองค์พระปฐมเจดีย์ด้านใน  ตามแบบทักษิณาวัตรอีก ๓ รอบ  แล้วจึงนำขึ้นไปห่มพันรอบองค์พระปฐมเจดีย์ที่บริเวณเสาหานส่วนคอของพระเจดีย์เป็นอันเสร็จพิธี
เทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์  สะท้อนความศรัทธาสามัคคี  สืบสานประเพณี  ทำนุบำรุงพุทธศาสนา  ผู้เฒ่าผู้แก่  หนุ่มสาว  ลูกหลาน  ส่งต่อพิธีปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่คู่วิถีชีวิตต่อไป
          –  ระยะเวลาจัดงาน : วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒  ถึง  วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒  รวม ๙ วัน ๙ คืน
          –  สถานที่จัดงาน : วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น