วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

วันสำคัญทางศาสนา


วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

  วันมาฆบูชา

   วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทสำคัญอันถือได้ว่าเป็นหัวใจของคำสอนในพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาฏิโมกข์ ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือนสาม ดวงจันทร์โคจรมาเสวยมาฆฤกษ์ แต่ถ้าปีใดมี อธิกมาส คือ เดือนแปดสองแปด วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญกลางเดือนสี่ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ รัฐมคธ ในปีแรกของการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ คือ หลังจากตรัสรู้แล้วได้ ๙ เดือน    ความประจวบกันพอดีของเหตุการณ์ในวันนี้ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ มีสี่ประการคือ
        ประการแรก  เป็นการมาชุมนุมกันของพระสงฆ์สาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา โดยมิได้นัดหมาย
        ประการที่สอง  พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
        ประการที่สาม  พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
        ประการที่สี่   วันนั้นดวงจันทร์เพ็ญเสวยมาฆฤกษ์เต็มบริบูรณ์
        ความพร้อมกันขององค์สี่ประการจึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต
        โอวาทปาฏิโมกข์  ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นการประมวลคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์สาวกนำไปประพฤติปฏิบัติ และนำไปสั่งสอนผู้อื่นในแนวทางเดียวกัน

วันวิสาขบูชา

ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖   วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสาขปุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ๗
     ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด  ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ  ได้ปรินิพพาน คือดับขันธ์ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง ๓ คราว คือ    
 ๑. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี

๒. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย


    ๓. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ ๔๕ ปี พระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
     นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง ๓ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖  ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก


อาสาฬหบูชา

            วันอาสาฬหบูชา  เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดงพระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ ๒ เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ  พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๘ ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์
            การแสดงพระปฐมเทศนา ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์  ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ  ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม


เข้าพรรษา



"เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เว้นแต่มีกิจธุระจำเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์ แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆองค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่าที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีกเพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้
     โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขารอันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษานับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา 
     การที่พระภิกษุสงฆ์ท่านโปรดสัตว์อยู่ประจำเป็นที่เช่นนี้ เป็นการดีสำหรับสาธุชนหลายประการ กล่าวคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระพุทธบัญญัติก็นิยมบวชพระ ส่วนผู้ที่อายุยังไม่ครบบวชผู้ปกครองก็นำไปฝากพระ โดยบวชเป็นเณรบ้าง ถวายเป็นลูกศิษย์รับใช้ท่านบ้าง ท่านก็สั่งสอนธรรม และความรู้ให้ และโดยทั่วไป พุทธศาสนิกชนนิยมตักบาตรหรือไปทำบุญที่วัด นับว่าเป็นประโยชน์
     การปฏิบัติตน ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือ ที่สำคัญคือ มีประเพณีหล่อเทียนขนาดใหญ่เพื่อให้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์อยู่ได้ตลอด 3 เดือน มีการประกวดเทียนพรรษา โดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ
     แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ ทำบุญรักษาศีลและชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึง วันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้น อบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลาน ของตนโดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับ อานิสงส์อย่างสูง 
     ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา เป็นประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษาซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พระภิกษุจะต้องอยู่ประจำวัดตลอด ๓ เดือนมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้มีอยู่เป็นประจำ ทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษานี้ พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าเย็นและในการนี้จะต้องมีธูป เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็น การกุศลทานอย่างหนึ่งเพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงฆ์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว ตามชนบท การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็จะมีการแห่แหน รอบพระอุโบสถ ๓ รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา ๓ เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่งมี การแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงามและถือว่าเป็นงานประจำปีทีเดียว ในวันนั้นจะมีการร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการร่วมกุศลกันในหมู่บ้านนั้น
กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา
   ๑. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
   ๒. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิษุสามเณร
   ๓. ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
   ๔. อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ


ออกพรรษา



เสด็จกลับจากดาวดึงส์์
        วันออกพรรษา  ตรงกับวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๑๑ เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ออกจากจำพรรษา หรือการอยู่ประจำที่ตลอดฤดูฝน เป็นระยะเวลา ๓ เดือน ต่อจากวันนี้ไปพระภิกษุสงฆ์ก็สามารถจาริกไปในที่ต่าง ๆ และค้างแรมในที่อื่นได้
        วันออกพรรษานี้มีการทำปวารณาในหมู่พระภิกษุสงฆ คือให้พระภิกษุสงฆ์ทำปวารณาแทนการทำอุโบสถ์สังฆกรรม ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน ต่างรูปต่างกล่าวคำปวารณาตามลำดับอาวุโส มีใจความว่า
สงฺฆมฺภนฺเต  ปวาเรมิ  ทิฏฺเฐน  วา  สุเตน  วา  ปริสงฺกาย  วา  วทนฺตุ  มํ  อายสฺมนฺโต  อนุกมฺปํ  อุปาทาย  ปสฺสนฺโต  ปฏิกฺกริสฺ สามิ ฯ
        ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อพระสงฆ์ด้วยได้ยินก็ดี ได้ฟังก็ดี สงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าว ข้าพเจ้า
เมื่อข้าพเจ้าสำนึกได้จักทำคืนเสีย แล้วจักสำรวมระวังต่อไป
(กล่าว ๓ ครั้ง)
        ในวันออกพรรษาตามประวัติหรือตำนานกล่าวว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ได้เสด็จไปจำพรรษาและแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาการเสด็จลงจากดาวดึงส์ครั้งนั้น ได้เสด็จลงมา ณ เมืองสังกัสสะ  บรรดาพุทธศาสนิกชนจึงพากันไปตักบาตรแด่พระพุทธเจ้า เรียกว่า ตักบาตรเทโว คำเต็มคือ ตักบาตรเทโวโรหนะ  คำว่าเทโวโรหนะ แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก

วันธรรมสวนะ




วันพระ
        นอกจากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว  ยังมีวันธรรมสวนะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันพระ”  โดยนับ
วันขึ้น ๘ ค่ำ
แรม ๘ ค่ำ
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ)
แรม ๑๕ ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม ๑๔ ค่ำ)
ของทุกเดือน เป็นวันที่ชาวพุทธมาบำเพ็ญกุศลให้กับตนเอง  วันธรรมสวนะนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งถือเป็นวันบำเพ็ญกุศลของชาวพุทธทั่วไป
        ในวันพระ พุทธศาสนิกชนถือเป็นวันสำคัญ ที่ควรไปวัดเพื่อทำบุญ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และฟังธรรม หรือถือศีล สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาอาจถือศีลแปดในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใดๆ
        วันโกน เป็นภาษาพูด หมายถึง วันก่อนวันพระ ๑ วัน
ประวัติความเป็นมา
        ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลว่านักบวชศาสนาอื่น มีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าศาสนาพุทธยังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาติให้ภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชน ในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ดังกล่าว
        พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็น วันธรรมสวนะ

วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

ประเพณีไทย

ประเพณีไทยภาคกลาง

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ จังหวัดสระบุรี



   “น้อมนมัสการรอยพระพุทธบาท  ร่วมทำบุญตักบาตรตามวิถีปฏิบัติ  ในงานประเพณีตักบาตรดอกไม้  เนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษา  ตลอดช่วงเช้าและช่วงบ่ายพระสงหลายร้อยรูป  บิณฑบาตเหล่าดอกเข้าพรรษาสีเหลือง  ขาว  และน้ำเงินม่วง  ซึ่งจะเบ่งบานในช่วงวันเข้าพรรษา  ที่พุทธศาสนิกชนหลายหมื่นแสนต่างพร้อมใจนำมาถวายด้วยศรัทธาอันแรงกล้า  เรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน”
ดอกเข้าพรรษากำลังเบ่งบานอยู่รายรอบภูเขา  บริเวณใกล้กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร  นับเป็นสัญญาณที่บอกให้ทราบว่าใกล้ถึงช่วงวันเข้าพรรษา  แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ แล้ว  ซึ่งนับว่าเป็นวาระมงคลที่พุทธศาสนิกชน  จะมาพร้อมกันเพื่อถวายดอกเข้าพรรษาแก่พระภิกษุสงฆ์  เพื่อนำไปสักการะแด่พระเจดีย์จุฬามณี  ตามความเชื่อดั้งเดิม
ที่มาของการตักบาตรดอกไม้  ผูกโยงกับพุทธตำนานว่า  ครั้งพุทธกาลพระเจ้าพิมพิสาร  จะรับสั่งให้นายมาลากรนำดอกมะลิเข้าถวายวันละ ๘ กำมือ  อยู่มาวันหนึ่ง  พระพุทธเจ้าได้ทรงออกบิณฑบาตพร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง  นายมาลากรได้เห็นพรรณรังสีฉายประกายรอบพระวรกาย  จึงเกิดความเลื่อมใสและนำดอกมะลิถวายแด่พระพุทธเจ้าทั้งหมด  พร้อมตั้งจิตอธิษฐานว่า “ข้าวของทุกชิ้นที่พระเจ้าพิมพิสารมอบให้เพียงเพื่อยังชีพในภพนี้เท่านั้น  แต่การนำดอกไม้บูชาแด่พุทธองค์  สร้างอานิสงส์ได้ทั้งภพนี้และภพหน้า  หากถูกประหารเพราะไม่ได้ถวายดอกมะลิก็ยิมยอม”  แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบเรื่องก็ทรงเห็นด้วย  ปูนบำเหน็จแก่นายมาลากร  และนายมาลากรก็อยู่อย่างมีความสุขตลอดมา
จากความเชื่อกลายเป็นวิถีปฏิบัติของชาวพุทธศาสนิกชนชาวอำเภอพระพุทธบาท  ที่ต่างเก็บดอกเข้าพรรษา  ทั้งสีขาว  เหลือง  และม่วง  มาใส่บาตรพระภิกษุสงฆ์  เพื่อนำขึ้นไปสักการะพระเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้ว  และสักการะพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  สุดท้ายนำเข้าโบสถ์ประกอบพิธีสวดเข้าพรรษา  ซึ่งหลังจากเสร็จพิธี  พระสงฆ์จะเดินกลับลงมา  โดยพุทธศาสนิกชนต่างพร้อมชำระล้างเท้าของพระสงฆ์ด้วยน้ำสะอาดเพื่อเป็นการชำระล้างบาปของตนเองด้วย
ประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่เต็มไปด้วยภาพความงดงามของทุกท่วงท่า  รายละเอียดของทุกแง่มุมที่ล้วนมีความหมาย  และไม่ยากที่สักครั้งคุณจะเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้ามาสัมผัส  และร่วมดำเนินพิธีกรรม  เข้าถึงงานประเพณี  ร่วมถ่ายทอดเอกลักษณ์เหล่านี้ให้คงอยู่  บอกกล่าวเล่าต่อว่า  การสร้างบุญกุศลที่แรงกล้านั้นเกิดจากศรัทธา  และความดีที่เกิดจากตัวคุณเอง
          –  วันเวลาการจัดงาน : วันเข้าพรรษา  แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี
          –  สถานที่จัดงาน :  วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร

ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ


“ภูเขาตั้งตระหง่านกลางเมือง แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน รวมเป็นเจ้าพระยาสายใหญ่พาดผ่าน ชุมชนภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ได้เกิดการรวมตัวของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล ที่ตั้งรกราก ลงหลักพักอาศัย พร้อมนำวิถี วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมมาปฏิบัติ ชวนให้เข้าไปสู่ห้วงมนต์เสน่ห์สีสันแห่งงาน ตรุษจีนปากน้ำโพ”
แหล่งชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่สานต่อวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ซึ่งยังคงเคารพนับถือ เจ้าพ่อเทพารักษ์ – เจ้าพ่อกวนอู – เจ้าแม่ทับทิม – เจ้าแม่สวรรค์ โดยตั้งศาลขึ้น ๒ ศาล คือ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกของตลาดปากน้ำโพ และศาลเจ้าแม่หน้าผา ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางเหนือของตลาดปากน้ำโพ
จากอดีตนั้นมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ตลาดปากน้ำโพได้เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดผู้คนล้มตาย ชาวจีนปากน้ำโพได้นำเอา “กระดาษฮู้” (กระดาษยันต์) ของศาลเจ้ามาเผา ได้เป็นเถ้าจึงนำมาผสมน้ำดื่มจนหายจากโรคร้าย และเป็นที่เลื่องลือในความศักดิ์สิทธ์ ตั้งแต่นั้นมา ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการแห่องค์เจ้าพ่อ – เจ้าแม่ไปรอบเมือง พร้อมด้วยขบวนการแสดงทางวัฒนธรรม อาทิ สิงโต เอ็งกอ ล่อโก้ว มังกรทอง องค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม รวมทั้งการแสดง แสง สี เสียง บอกเล่าตำนานความเชื่อของชาวปากน้ำโพอย่างยิ่งใหญ่
ชาวนครสวรรค์ ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ต่างพร้อมใจกันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีอันยิ่งใหญ่ เด็กๆ ต่างเข้าร่วมสมาคม ชมรมการแสดง ฝึกซ้อมท่วงท่าร่ายรำให้พร้อมเพรียงสำหรับการแสดง ตลอดสองฝั่งถนนในตัวเมือง ชาวไทยเชื้อสายจีนต่างตั้งเครื่องเซ่นไหว้ บูชาบรรพบุรุษ คณะเอ็งกอกระชับไม้กระบองสองข้างไว้แน่น ทุกก้าว ทุกจังหวะดูเข้มแข็ง เด็กหญิงตัวเล็กมือถือถ้วยและตะเกียบไว้ในมือน้อยๆ เสียงกระทบถ้วยช้าๆ สอดรับดนตรีเพลงจีนเบาๆ เหล่าสิงโต เสือ เคลื่อนไหว เล่นสนุก ปีนป่ายบนเสาดอกเหมยด้วยความสง่างาม
เสียงประทัดจีนดังก้องกังวานเมื่อมังกรทองวาดลวดลายพลิ้วไหวดั่งล่องลอย จากความร่วมแรงของคนนับร้อยที่ต้องผลัดเปลี่ยนเวียนตำแหน่ง เพื่อให้มังกรทองโบยบินราวมีชีวิต ไปจนถึงยามเย็นแสงสีสันของโคมไฟที่ประดับอยู่ทั่วเมือง คณะงิ้วสื่อสำเนียงออกลีลาชวนติดตามเรื่องราว ปิดท้ายค่ำคืนด้วยการแสดงทางวัฒนธรรมที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณหาดทรายริมต้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามารถถ่ายทอดความงดงามของวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายจีนได้อย่างสมบูรณ์แบบ
– วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์
– สถานที่จัดงาน : ขบวนแห่รอบตลาดปากน้ำโพธิ์และหาดทรายริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ประเพณีรับบัว


ประเพณีประเพณีรับบัวเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จัดขึ้นทุกวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
มูลเหตุของการเกิดประเพณีรับบัวก็เนื่องมาจากว่า แต่เดิมในอำเภอบางพลีจะมีประชากรอาศัยอยู่ ๓ กลุ่มคือ คนไทย คนรามัญ และคนลาว ต่อมาคนไทยทั้ง ๓ กลุ่ม ได้ตกลงกันว่าจะช่วยกันถากถางพงหญ้าให้เป็นพื้นที่ทำไร่ทำนา จนกระทั่งคนไทยทั้ง ๓ กลุ่มได้ถางหญ้ามาถึง ๓ แยก ทุกคนตกลงกันว่าจะแยกไปคนละทาง โดยคนลาวไปทางคลองสลุด คนไทยไปทางคลองชวดลากหญ้า คนรามัญไปทางคลองลาดกระบัง
๒-๓ ปีต่อมา กลุ่มรามัญที่ย้ายไปอยู่ทางคลองลาดกระบังโดยหนูและนกทำลายพืชผลทางการเกษตรจึงต้องย้ายกลับมาอยู่ถิ่นฐานเดิมคือที่ปากลัด (พระประแดง) โดยเริมออกเดินทางในตอนเช้ามืดของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ แต่ก่อนออกเดินทางพวกรามัญได้เก็บดอกบัวเพื่อนำไปบูชาพระคาถาพัน (เทศน์มหาชาติ) ที่ปากลัด และได้สั่งเสียพวกคนไทยบางคนที่ยังคงอาศัยอยู่ ณ คลองลาดกระบัง ว่าในปีต่อไปถ้าถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ให้ช่วยเก็บดอกบัวและรวบรวมไว้ที่วัดหลวงพ่อโตแล้วพวกตนจะมารับ
ครั้นถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ คนไทยก็ได้เก็บดอกบัวและไปรวมไว้ที่วัดบางพลีใหญ่หรือวัดหลวงพ่อโตตามคำร้องขอของชาวรามัญ การมาของชาวรามัญจะมาโดยเรือถึงประมาณตี ๓-๔ และทุกครั้งที่มาจะมีการร้องเพลงกันอย่างสนุกสนานส่วนผู้ที่มาคอยรับก็พลอยสนุกสนานไปด้วย
“พิธีกรรมของประเพณีรับบัวจะเริ่มต้นในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยในตอนเย็นชาวพระประแดงและเพื่อนบ้านใกล้เคียง จะลงเรือและร่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาบ้าง ตามคลองสำโรงบ้าง แต่ทุกคนจะมีจุดหมายเดียวกันคือไปที่หมู่บ้านบางพลี โดยในเรือที่ร่องกันมานั่นจะมีเครื่องดนตรีนานาชนิด เช่น ปี่ ซอ แง แบ กรับ และกลอง เป็นต้น และทุกคนจะร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน ส่วนชาวบางพลีก็จะเตรียมดอกบัวและอาหารไว้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน”
พอเช้าตรูของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านจากต่างถิ่น เช่น ชาวพระประแดง และเพื่อนบ้านใกล้เคียงจะพายเรือเพื่อรับบัวจากชาวบางพลี แต่ก่อนที่ชาวบางพลีจะส่งบัวให้นั้น จะยกมือพนมและอธิษฐาน ส่วนผู้รับก็จะพนมมือและรับบัวอย่างสุภาพ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า “การรับบัว” 


ประเพณีไทยภาคตะวันออก

  “ลานกว้าง  คือสนามประลองเจ้าแห่งความเร็วของเจ้าทุยเพื่อนรัก  สัตว์เลี้ยงคู่ใจชาวนาไทยครั้งอดีต  ที่ต่างวางคันไถ  ออกจากท้องนาขึ้นมาช่วงชิงชัยชนะในสนามการแข่งขันวิ่งควาย  ประเพณีที่สร้างความคึกคักเร้าใจ  ได้ทุกช่วงวินาทีที่ผู้บังคับประสานเป็นหนึ่งกับเจ้าทุย  ขับเคี่ยวกับคู่แข่งที่ขนาบทั้งซ้ายขวา  มุ่งหน้าเข้าสู่เส้นชัย  เพียงช่วงเวลาไม่กี่นาที”
ใกล้เข้าสู่เทศกาลออกพรรษา  ผ่านพ้นช่วงการไถหว่านของชาวนาที่มีควายไทยเป็นแรงงานหลักในการไถแปลงนาให้พร้อมสำหรับการเพาะปลูกข้าว  เมื่อทำงานหนักเสร็จสิ้นก็ได้เวลาในการพัก  แต่ระหว่างที่รอการเก็บเกี่ยวผลผลิต  ช่วงนี้เองที่ชาวนาจะได้มีโอกาสนำผลผลิตจากฤดูก่อนหน้ามาค้าขาย  แลกเปลี่ยนกันในตลาด  บางคนใช้ควายเป็นพาหนะขนของ  ยางคนก็แต่งองค์ทรงเครื่องให้ควายของตนสวยงาม  จนเมื่อเสร็จสิ้นการพบปะพูดคุย  จึงชักชวนกันนำควายของตนมาวิ่งแข่งขันกัน  จนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน
ประเพณีวิ่งควายจัดขึ้นทั่วไปตามชุมชนต่างๆ เริ่มตั้งแต่เขตเทศบาลเมืองชลบุรี  จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑  อำเภอบ้านบึง  จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  ตลาดหนองเขิน  อำเภอบ้านบึง  จัดขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดดอนกลาง  ตำบลแสนสุข  อำเภอเมือง  จัดขึ้นในวันทอดกฐินประจำปีของวัด  ซึ่งคุณสามารถเดินทางเข้ามาชมประเพณีนี้ได้ตามช่วงเวลาต่างๆ  ซึ่งแต่ละสถานที่ล้วนมากด้วยสีสัน  รวมทั้งความตื่นเต้นในการลุ้นว่าใครที่จะเป็นเจ้าแห่งความเร็วของประเพณีวิ่งควาย
ในปัจจุบัน  นอกจากชาวบ้านต่างเข้าชิงชัยในสนามแข่งขันประเพณีวิ่งควาย  และประดับประดาควายของตนด้วยผ้า  และแต่งแต้มสีสันสร้างลวดลายให้สวยงามแล้ว  ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างความสนุกสนาน  และแฝงไปด้วยสาระ  เริ่มต้นตรวจดูความแข็งแรงของควายในการประกวดสุขภาพ  สร้างขวัญและกำลังใจแก่คนและควายในพิธีสู่ขวัญควายตามแบบพิธีกรรมดั้งเดิม  อันเป็นการแสดงถึงความผูกพันระหว่างชาวนาและสัตว์เลี้ยงคู่ใจ  ถึงแม้ความสำคัญของควายไทยจะลดบทบาทลงไปมาก  แต่ชาวชลบุรีก็ยังสืบสานงานประเพณีวิ่งควายให้คงอยู่จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น  หนึ่งเดียวในประเทศไทย
          -   วันเวลาการจัดงาน : ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑  หรือก่อนออกพรรษา ๑ วัน  เรื่อยไป
          -   สถานที่จัดงาน : เทศบาลเมืองชลบุรี,  ตลาดหนองเขิน  อำเภอบ้านบึง,  วัดดอนกลาง  ตำบลแสนสุข


ประเพณีไทยภาคอีสาน

ประเพณีบุญเบิกฟ้า จังหวัดมหาสารคาม


 “ประเพณีบุญเบิกฟ้า  ช่วงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต  ชาวนาอีสานตอบแทนผืนแผ่นดินทำกิน  โดยการใช้ปุ๋ยคอกทำจากมูลสัตว์กลับคืนสู่ผืนดินให้มีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง  อีกทั้งสายฝนแรกของปีก็กำลังจะมา  ฟ้ากำลังจะร้อง  เมื่อมาทิศใดก็จะทำนายความอุดมสมบูรณ์ในปีนั้นๆ ไปตามความเชื่อดั้งเดิม”
ชาวนาใช้ประโยชน์จากพื้นดินมายาวนาน  ตลอดระยะเวลาการเพาะปลูก  ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินได้สูญสลายไป  เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว  เมล็ดข้าวที่เติบโตจนได้สีทองล้วนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้มอบให้  ซึ่งชาวนาต่างรู้และสำนึกในบุญคุณของผืนแผ่นดิน  ด้วยการคืนธาตุ  คืนอาหารเป็นการตอบแทน  อาการที่ว่าก็คือปุ๋ยนั่นเอง
เดือน ๓ เดือนมหัศจรรย์ของชาวอีสาน  นอกจากเป็นเดือนที่อุดมสมบูรณ์แล้วยังเป็นเดือนเริ่มต้นฤดูฝน  ซึ่งจะมีเสียงฟ้าร้อง  และมีความเชื่อว่าในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ นี้  เมื่อมีฟ้าร้องมาจากทิศทางใดจะเป็นสัญญาณบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของฝนในปีนั้นๆ  การทำนายดังกล่าวนับว่ามีความแม่นยำจนมีการจดบันทึกคำทำนายเป็นกลอนไว้เป็นหลักฐาน  ชื่อว่า “โสลกฝน”
ประเพณีบุญเบิกฟ้าเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘  ชาวบ้านแบก  ตำบลนาทอง  อำเภอเชียงยืน  ได้ฟื้นฟูประเพณีหาบฝุ่นปุ๋ยคอกไปใส่แปลงนาทุกครัวเรือนเพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีบำรุงดินแบบอีสานจากความร่วมมือของชุมชนปรากฏว่าผลผลิตข้าวในปีนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นเท่าตัว  ชาวบ้านจึงจัดงานประเพณีนี้เรื่อยมา  และกลายเป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่ตลอดระยะเวลา ๗ วัน ๗ คืน
เมื่อถึงกำหนดงานชาวบ้านต่างช่วยกันหาบปุ๋ยคอกไปใส่ลงในแปลงนา  ควบคู่กับพิธีบูชาพระแม่ธรณี  ตั้งเครื่องสังเวย  เหล้าไห  ไก่ต้ม  ของหวาน  กล้วย  อ้อย  ตามรูปแบบพิธีกรรมดั้งเดิม  ซึ่งนับเป็นประเพณีที่สมบูรณ์  และสะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวอีสานอย่างแท้จริง
          –  วันเวลาการจัดงาน : วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี
          –  สถานที่จัดงาน :  สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม


ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร



  “นิทานพื้นบ้านเล่าสืบต่อกันมา  ผาแดงนางไอ่  พระยาคันคาก  ล้วนกล่าวถึงการจุดบั้งไฟถวายแด่พญาแถน  เพื่อเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล  หลาบสิบปีได้สืบทอดงานประเพณีบุญบั้งไฟ  ความสวยงามของการตกแต่งขบวนที่ยิ่งใหญ่  ควันสีขาวพุ่งทะยานไปตามบั้งไฟแสนที่ขึ้นสู่ท้องฟ้า  ตามมาด้วยเสียงดังสนั่น  และเสียงลุ้นของผู้คน  สุดเร้าได้ทุกครั้งไป”
เมื่อถึงเดือน ๖ ชาวอีสานจะมีการจัดงานประเพณีที่สำคัญ  หนึ่งในฮีตสิบสอง  จากความเชื่อในการบูชาพญาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  พร้อมเข้าสู่การทำนาครั้งใหม่  และกล่าวกันว่าหากหมู่บ้านใด  ชุมชนไหน  มิได้จัดงานประเพณีนี้ขึ้นในปีนั้นๆ  ฝนก็จะไม่ตก  พื้นดินก็จะแห้งแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกใดๆ ได้
เมื่อถึงวันงาน  ก่อนการประกวดประชันบั้งไฟประเภทต่างๆ  จะมีขบวนแห่บั้งไฟตกแต่งด้วยสีสันที่สวยงาม  ตามมาด้วยเสียงดนตรีบรรเลงให้จังหวะในการเซิ้งบั้งไฟ  เซิ้งกระติบ  ฟ้อนขาลาย  ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน  และอีกหนึ่งสีสัน  คือ  ขบวนแห่การแต่งกายล้อเลียนบุคคล  ผู้ชายบางคนสวมใส่ชุดหญิงสาวออกอากัปกิริยาอ่อนช้อย  สร้างเสียงหัวเราะ  และความสนุกสนานให้ผู้พบเห็น
การแข่งขันบั้งไฟของยโสธรมีการแบ่งเป็นประเภทแฟนซี  บั้งไฟขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว  บรรจุดินประสิวไม่เกิน ๔ กิโลกรัม  เน้นที่ความสวยงาม  รวมทั้งลีลา  เมื่อจุดขึ้นฟ้าบางทีมอาจมีร่มหลากสีกางออก  หรือมีเสียงประกอบ  และประเภทบั้งไฟแสนซึ่งใช้แข่งขันกัน  โดยนับจากเวลาที่บั้งไฟขึ้นลอยอยู่บนท้องฟ้า  บั้งไฟของใครขึ้นนานที่สุด  สังเกตจากหางที่ตกลงสู่พื้นก็เท่ากับว่าขึ้นได้สูง  และได้รับชัยชนะในที่สุด
เมื่อถึงเวลาแข่งขัน  แต่ละทีมตระเตรียมความพร้อมก่อนจุดบั้งไฟให้ทะยานออกจากฐาน  พร้อมด้วยเสียงบั้งไฟแหวกอากาศที่แสดงถึงความเร็ว  ทิ้งควันสีขาวไปตามเส้นทางสู่ท้องฟ้า  ของใครยิ่งสูง  อยู่บนฟ้าได้นาน  ก็จะได้รับชัยชนะ  ส่วนทีมที่พ่ายแพ้  บั้งไฟระเบิด  หรือไม่ขึ้นก็ต้องถูกกระชากลากลงไปในบ่อโคลนเป็นที่สนุกสนาน  อันเป็นการสานความสามัคคีระหว่างชุมชน  และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานทุกครั้งไป
          –  วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี
          –  สถานที่จัดงาน : ณ สวนสาธารณะพญาแถน  และเขตเทศบาลเมืองยโสธร

ประเพณีบุญผะเหวด จังหวัดร้อยเอ็ด


 “ประเพณีบุญผะเหวด  หรืองานบุญเดือนสี่  ภาพจำลองเรื่องราวมหาชาติชาดก  ครั้งที่พระเวสสันดรกลับเข้าเมือง  ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา  ของขบวนแห่ทั้ง ๑๓ กัณฑ์  ฟังเทศน์มหาชาติ  แห่กัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอน  แห่ข้าวพันก้อน  เทศน์สังกาด  บุญใหญ่ที่สร้างความสุขสนุกสนานแก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วกัน”
จังหวัดร้อยเอ็ด  ได้เริ่มฟื้นฟูงานประเพณีบุญผะเหวดขึ้นมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔  ซึ่งได้มีการกำหนดจัดงานในวันเสาร์และวันอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคม ณ บึงผลาญชัย  และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  เริ่มตันวันศุกร์ด้วยการแห่พระอุปคุต  วันเสาร์  ขบวนแห่ ๑๓ กัณฑ์  และวันอาทิตย์  ฟังเทศน์มหาชาติและแห่กัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอน  ขบวนต่างๆ ล้านเกิดจากความร่วมใจของชาวบ้าน  ที่แสดงออกถึงจตุปัจจัยที่ร่วมกัน  ถวายแด่พระที่กำลังเทศน์อยู่ในขณะนั้น  และเจาะจงถวายแด่พระที่ศรัทธาซึ่งเทศน์ในวันนั้น
เข้าสู่งานประเพณี  ชาวร้อยเอ็ดจะอัญเชิญพระอุปคุตแห่รอบเมือง  เพื่อปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดภัยพิบัติและให้ทำมาค้าขึ้น  จากนั้นเริ่มพิธี “มหามงคลพุทธมนต์  พระอุปคุตเสริมบารมี”  เข้าสู่วันที่สอง  ช่วงเช้าแจกสัตสดกมหาทาน  บริจาคสิ่งของแด่ผู้ยากไร้  ตามด้วยไฮไลท์ของงานคือ  ขบวนแห่ตำนานพระเวสสันดร ๑๓ กัณฑ์  ภาพขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองที่สมจริง  งดงามด้วยสีสันและท่วงท่าการร่ายรำ  พระเวสสันดรทรงช้างมาพร้อมด้วยพระนางมัทรี  ห้อมล้อมด้วยเหล่าทหารที่ยิ่งใหญ่
ถึงวันสุดท้าย  พิธีแห่ข้าวพันก้อน (ข้าวเหนียวปั้นเล็กๆ  จำนวน ๑,๐๐๐ ก้อน)  และเทศน์สังกาด (เป็นการพรรณนาอายุกาลของพระพุทธศาสนา  เริ่มแต่ต้นจนถึงอันตรธาน)  ร่วมทำบุญตักบาตร  เคล้าด้วยเสียงของการเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ตลอดทั้งวัน  ช่วงสายๆ ขบวนแห่ถวายต้นเงิน  หรือต้นกัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอนของพุทธศาสนิกชนนำมาถวายพระภิกษุภายในบึงผลาญชัย  นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการจัดประกวดธงผะเหวด  การประกวดภาพวาด  ภาพถ่ายประเพณีบุญผะเหวด  การแข่งกินขนมจีน  สร้างความสนุกสนานได้ตลอดงาน
-  วันเวลาการจัดงาน : ช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี (บุญเดือนสี่)
-  สถานที่จัดงาน : บึงผลาญชัย  สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  อ.เมืองร้อยเอ็ด


ประเพณีไทยภาคใต้

ประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่งและงานของดีเมืองนรา จังหวัดนราธิวาส


          “สีสันเรือกอและอันคงเอกลักษณ์  จากวิถีชีวิตชาวประมงนำสู่ประเพณีท้องถิ่น  เหล่าฝีพายนับสิบประจำในลำเรือ  จากนั้นจึงจ้ำพายสู่หลักชัย  ใครเร็วกว่าคือผู้ชนะ  เสียงปรบมือโห่ร้องส่งกำลังใจจากกองเชียร์ดังรอบ  ภาพบรรยากาศประเพณีแข่งเรือหน้าพระที่นั่ง  และงานของดีเมืองนรา  จึงเต็มไปด้วยสีสันเช่นความงามของลำเรือ”
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมวงศานุวงศ์  เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์  ทรงเสด็จออกเยี่ยมราษฎร  เพื่อรับฟังปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน  เป็นที่มาของโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน  ช่วยให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ  ชาวนราธิวาสจึงได้นำเอาการแข่งขันเรือกอและประเพณีไทยอันเก่าแก่ถวายทอดพระเนตรเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น  นำไปสู่การปฏิบัติตามประเพณีซึ่งเริ่มจางหายไปให้กลับมาดำรงอยู่อีกครั้ง
ในฤดูน้ำหลาก  วิถีชีวิตของชาวประมงยังคงดำเนิน  ขณะที่อีกด้านถือเป็นโอกาสประชันความแข็งแกร่งของเหล่าฝีพายจากทั่วหมู่บ้าน  ตำบล  เรือกอและหลากสีสันลอยลำเป็นระนาบเดียวกันบนผืนน้ำ  แล้วจึงกระโจนออกไปด้วยแรงสามัคคีจากเหล่าฝีพาย  มุ่งตรงไปยังหลักชัยด้วยจังหวะอันพร้อมเพรียง  ผืนน้ำกระเซ็นเป็นละออง  เพียงแค่อึดใจเดียวผู้เร็วกว่าจึงได้คว้าเอาธงซึ่งถือเป็นหลักชัยมาครอง  และนับเป็นชัยชนะในเที่ยวนั้น
การแข่งขันจะแบ่งออกเป็นสี่รอบ  เหล่าฝีพายแต่ละลำเรือไม่เกินยี่สิบสามคน  รวมทั้งนายท้าย  มีฝีพายสำรองไม่เกินลำละห้าคน  การเข้าเส้นชัยจะนับส่วนหัวเรือสุดของเรือที่เข้าเส้นชัยก่อนลำอื่นเป็นผู้ชนะในรอบนั้น  ทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเริ่มการแข่งขัน  เสียงเชียร์จะดังกึกก้องท้องน้ำ  เรือกอและยังคงเอกลักษณ์ด้วยสีสัน  เลี้ยงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านมาช้านาน  ในวันนี้ได้สร้างความรื่นเริง  สนุกสนาน  ลดความเหนื่อยล้าจากการงาน  สร้างรอยยิ้มให้กับชาวบ้านได้อย่างน่าชม
          -  วันเวลาการจัดงาน : ปลายเดือนกันยายนของทุกปี
          -  สถานที่จัดงาน : บริเวณหน้าพลับพลาเฉลิมพระเกียรติสิริราชสมบัติ  ครบรอบ ๕๐ ปี  อำเภอเมือง  จังหวัดนราธิวาส

ประเพณีแข่งขันตีโพน จังหวัดพัทลุง




 “หลังประดิดประดอยโพนพร้อมสำหรับการประชันแล้ว  เสียงโพนจึงดังกึกก้อง  สร้างความครึกครื้น  รื่นเริง  ในงานประเพณีแข่งขันตีโพน  เครื่องดนตรีพื้นบ้านซึ่งอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนเมืองลุง  ด้วยเสียงอันทุ้มแหลมกังวาน  เกิดเป็นคำกล่าวที่ว่า  จะร้อยพันแม้นหมื่นเสียงตะโกน  ฤาจะสู้เสียงแข่งโพนที่เมืองลุง”
โพน  ชื่อเรียกเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวปักษ์ใต้  เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในอดีต  ใช้บอกเหตุร้ายเวลากลางคืน  บ้างใช้สำหรับเรียกประชุมหมู่บ้าน  เป็นสัญญาณเมื่อถึงเวลาฉันอาหาร  รวมทั้งใช้เป็นจังหวะในงานประเพณีลากพระ  พัฒนาสู่ประเพณีการแข่งขันตีโพยด้วยในวันงานลากพระ  วัดในละแวกเดียวกันต่างจัดงานกันยิ่งใหญ่  เสียงโพนจึงดังกึกก้องจนไม่สามารถแยกได้ว่าเสียงนั้นดังมาจากวัดไหน  นำสู่การแข่งขันประชันเสียงโพน  โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุงจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆ ปี
ประเพณีแข่งขันตีโพนจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิบจนถึงวันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด  จัดควบคู่ไปกับประเพณีลากพระในวันออกพรรษา  ก่อนถึงวันแข่งขัน  เหล่านักตีโพนต่างขะมักเขม้นกับการประดิษฐ์เพื่อให้ได้โพนที่เสียงดีที่สุด  เลือกเอาไม้เนื้อแข็ง  ตาลโตนด  จำปาป่า  ขนุนป่า  แกะเป็นรูกลมกลวงคล้ายอกไก่  ใช้หนังควายแก่ซึ้งเป็นที่นิยมด้วยความเหนียวทนทานเป็นหนังหุ้ม  โพนของพัทลุงจึงมีชื่อเสียงโด่งดัง  ด้วยความพิถีพิถันในการประดิษฐ์
ตีโพนแบ่งการแข่งขันออกเป็นสองลักษณะคือ  การแข่งขันมือ (ตีทน)  ใครตีทน  ตีนานกว่าเป็นผู้ชนะ  อีกประเภทคือการแข่งขัน “จันเสียง”  ซึ่งจะได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน  บรรยากาศวันงานแข่งโพนในจังหวัดพัทลุงจะเต็มไปด้วยความครึกครื้น  สนุกสนาน  เหล่านักตีโพนต่างแสดงพละกำลัง  ลูกเล่น  ไหวพริบต่างๆ  ส่งเสียงทุ้มแหลมของโพนดังกังวานทั่วบริเวณ  และแม้จะเป็นการแข่งขันแต่ผู้ลงชิงชัยต่างมีแต่รอยยิ้ม  ความสุขจากการได้ร่วมงานประเพณีที่เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเอง  สะท้อนภูมิปัญญาการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง  เกิดความรัก  ความสามัคคี  ด้วยวิถีอันเรียบง่ายที่คงเสน่ห์ยาวนาน
ถึงวันออกพรรษา  ทำบุญตักบาตรเสร็จแล้วอย่าลืมแวะมาฟังเสียงโพนเมืองลุง  “จะแลแข่งโพนให้หรอยและหนุกต้องแข่งโพนเมืองลุง”  โพนดี  โพนดัง  ต้องโพนเมืองลุง
          -   วันเวลาการจัดงาน : ปลายเดือน ๑๐  จนถึง  วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ประมาณช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม  นิยมแข่งขันกันในช่วงกลางคืนตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐ น. เป็นต้นไป
          -   สถานที่จัดงาน : บริเวณเทศบาลเมืองพัทลุง

การแข่งขันว่าวประเพณี จังหวัดสตูล




  ลักษณะของว่าวควาย ช่วงล่างเป็นรูปทรงเขาโง้ง ขนาดกว้างประมาณหนึ่งเมตร นิยมใช้สีขาวเป็นตัวว่าว อาจแต่งแต้มสีบ้างเล็กน้อย มีแอกรับลมเกิดเป็นเสียงขณะล่องลม ทั้งรูปลักษณ์ภายนอกที่แปลกตา ประกอบกับเสียงที่เกิดขึ้นเมื่อติดลมบน ได้กลายเป็นมนต์เสน่ห์ ที่สามารถนำกฎทางธรรมชาติมาผสานกับแนวคิดของคน และกลายเป็นกิจกรรมยามว่างที่ไม่ว่าใครก็ต่างสนใจ
ประเพณีการแข่งขันว่าว แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ใครบังคับได้ขึ้นสูงก็รับรางวัลประเภทขึ้นสูง ใครเสียงดังกังวานก็ต้องมอบรางวัลชนะเลิศประเภทเสียงกังวาน แต่หากมีพรสวรรค์ด้านศิลปะก็ตกแต่งว่าวมาอย่างครบเครื่องในประเภทสวยงามและความคิดนสร้างสรรค์ นอกจากมีการจัดแข่งขันว่าวในประเภทต่างๆ แล้ว ยังมีการแข่งขันการประดิษฐ์ว่าว ประกวดธิดาว่าว จัดแสดงโชว์ว่าวสตันไทย และว่าวต่างประเทศ มีซุ้มนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของว่าว พร้อมการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของสตูล การแสดงดนตรีสด ร่วมด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน นำสินค้าต่างๆ มาออกร้านมากมาย จนทำให้บรรยากาศภายในงานจึงเต็มไปด้วยความครึกครื้นรื่นเริง สุดแสนประทับใจ
– วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนกุมภาพันธ์
– สถานที่จัดงาน : สนามบินจังหวัดสตูล

การละเล่นของไทย


การละเล่นของไทย


กงจักร

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ผู้เล่นนำฝาเบียร์มาทับให้แบน เจาะรูตรงกลาง นำเชือกร้อยเข้าไปในรูตรงกลางถือเชือกไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง แกร่งเชือกให้เป็นเกลียวมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วดึงให้ฝาเบียร์จะหมุนอย่างรวดเร็ว

อุปกรณ์

ฝาเบียร์, ตะปู, ค้อน, เชือก



กระโดดกบ


จำนวนผู้เล่น

ไม่เกิน 10 คน

วิธีเล่น

เอาผ้าผูกขา ข้างของผู้เล่นติดกัน เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้เล่นทุกคนจะกระโดดออกจากเส้นเริ่มต้นไปจนถึงเส้นชัย ใครไปถึงก่อนเป็นผู้ชนะ

อุปกรณ์

ผ้าสำหรับใช้ผูกขาเท่าจำนวนผู้เล่น


กระโดดเชือกคู่


จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

เลือกผู้เล่น คนมาจับปลายเชือกคนละข้าง แล้วแกว่งไปด้านข้างทางเดียวกัน  ผู้เล่นที่เหลือเข้าไปกระโดดข้ามเชือกที่กำลังแกว่าง  จะกระโดดทีละคนหรือพร้อมกันหลายๆ คนก็ได้  ถ้าใครกระโดดสะดุดเชือก หรือกระโดดคร่อมเชือก ถือว่าตายต้องไปถือเชือกแกว่ง และให้คนที่ถือเชือกอยู่เดิมมากระโดดแทน

อุปกรณ์

เชือก เส้น ยาวประมาณ 5.10 เมตร



กระโดดเชือกเดี่ยว



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ผู้เล่นจับปลายเชือก ข้าง แก่งไปข้างหน้าพอเชือกแกว่งมาถึงปลายเท้าก็กระโดดข้ามเชือกทีละขา หรือพร้อมกันทั้ง ขาก็ได้ ถ้าเหยียบเชือกหรือกระโดดข้ามไม่พ้นเชือกก็ต้องให้ผู้เล่นคนอื่นกระโดดต่อ  ซึ่งในการกระโดดเชือกเดี่ยวนี้บางคนอาจจะแกว่งเชือกไปทางด้านหลังก็ได้

อุปกรณ์

เชือก เส้น มีความยาวเท่ากับความสูงของผู้เล่น (เมื่อจับเชือกสองมือใช้เท้าเหยียบกลางเชือก แล้วยกแขนขึ้นสูงระดับศีรษะของตัวเอง)


กระโดดยาง




จำนวนผู้เล่น

3 คนขึ้นไป

วิธีเล่น

นำหนังยางมาต่อกันคล้ายๆ โซ่ เวลาเล่นจะต้องมีผู้เล่น 2 คนถือยางคนละข้าง ดึงให้ตึงพอสมควร แล้วให้ผู้เล่นที่เหลือกระโดดข้าม แต่ละเกมการเล่นจะแบ่งเป็นระดับตามความสูงของการถือยาง คือจากต่ำไปจนถึงสูง หากผู้กระโดดไม่สามารถกระโดดข้ามได้ในความสูงระดับใดถือว่าแพ้ ต้องหยุดเล่นแล้วนั่งดูผู้ที่เหลือเล่นจนจบเกม

อุปกรณ์

ยาง


กระต่ายขาเดียว



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ขีดเส้นแบ่งเขตบนพื้น และมีเขตจำกัดเส้นออกไว้ด้วย แบ่งผู้เล่นออกเป็น ฝ่ายเท่าๆ กัน ตกลงกันว่าใครจะเป็นกระต่ายก่อน กลุ่มที่เป็นกระต่ายจะคิดคำขึ้นหนึ่งคำ ให้มีพยางค์เท่ากับจำนวนคนในหมู่และจำต้องกำหนดพยางค์ให้แต่ละคนด้วย เมื่อคิดคำได้แล้วหมู่ที่เป็นฝ่ายเล่นทั้งหมดก็จะเป็นผู้เลือกว่า จะเอาพยางค์ใด ฝ่ายกระต่ายคนที่มีพยางค์ตรงกับที่โดนเลือกก็จะวิ่งกระโดดขาเดียวให้เร็วที่สุด และไล่จับแตะคนในฝ่ายเล่น ถ้าคนใดโดนจับหรือถูกตัวกระต่ายก็ต้องออกจากการเล่น แต่ถ้ากระต่ายเปลี่ยนขาหรือขาแตะพื้นจะต้องเปลี่ยนเป็นกระต่ายตัวใหม่ที่ฝ่ายเล่นจะเลือก เมื่อฝ่ายเล่นถูกไล่ตีจนหมดแล้วก็ถือว่าแพ้ ต้องมาเป็นฝ่ายกระต่ายบ้าง

ตัวอย่างการเล่น

ฝ่ายกระต่ายมีสมาชิก คน ก็คิดคำ พยางค์ เช่น ทุเรียนหมอนทอง คนแรกเป็น ทุคนที่เป็นเรียน” คนที่เป็นหมอน” คนที่เป็นทอง” เมื่อฝ่ายเล่นเรียกทอง” คนที่เป็นทองต้องกระโดดขาเดียวไล่จับคนฝ่ายเล่น ถ้าเท้าตกถึงพื้นฝ่ายเล่นจะเลือกคนใหม่อีก จนกว่าจะหมด ถ้าฝ่ายกระต่ายแตะได้ก่อน หรือฝ่ายเล่นวิ่งออกนอกเส้นแบ่งเขต จะหมดสิทธิ์เป็นฝ่ายเล่นต้องมาเป็นฝ่ายกระต่ายแทน


กาฝักไข่


จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ใช้ผลไม้หรืออะไรก็ได้ สมมุติว่าเป็นไข่ และเขียนวงกลมลงบนพื้น เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ฟุต วง และอีกวงหนึ่งอยู่ในวงแรก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ฟุต วางทั้งหมดไว้ในวงกลมเล็ก ให้คนใดคนหนึ่งเป็นกา ยืนในวงกลมวงใหญ่ หรือนั่งคร่อมวงกลมเล็ก นอกนั้นทุกคนยืนรอบนอกวงกลมวงใหญ่ คอยแย่งไข่ คนเป็นกามีหน้าที่ป้องกันไข่ โดยมีกติกาการเล่น ดังนี้

1.     
ผู้มีหน้าที่หยิบไข่ เข้าไปในวงกลมไม่ได้
2.     ผู้มีหน้าที่หยิบไข่ ต้องระวังมิให้อีกาตีถูกมือ หรือแขนของตน ซึ่งล่วงล้ำเข้าไปในวงกลมได้
3.     ถ้าแย่งไข่ไปจากอีกาได้หมดแล้ว ให้ปิดตากาแล้วเอาไข่ไปซ่อนให้อีกาตามหาไข่ ถ้าพบไข่ที่ผู้เล่นคนใดเป็นคนซ่อน ผู้นั้นต้องเปลี่ยนมาเป็นกาแทน

อุปกรณ์

ก้อนหินหรือผลไม้เท่าจำนวนคนเล่น ยกเว้นคนที่เป็นกา คน